×
แชทกับหน่วยงาน
องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล
ยินดีให้บริการค่ะ....
insert_drive_file ข้อมูลหน่วยงาน
ข้อมูลทั่วไป
"องค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล" ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 และใช้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาในเขตตำบลวังบาล เบอร์ติดต่อ โทร. 056-747523 แฟกช์ 056-747532 ที่ตั้งและอาณาเขต ตำบลวังบาลเป็นตำบล 1 ใน 9 ตำบลของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหล่มเก่า ประมาณ 4 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย การจัดตั้งหมู่บ้านมักจะรวมตัวกันตั้งบ้านเรือนกันเป็นหย่อม เป็นหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะตั้งอยู่ตามถนน หนทาง ตามหนองน้ำ ตามลำห้วยที่มีอยู่เดิม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 103.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 64,441 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิประเทศของตำบลวังบาล ทางทิศตะวันออกของตำบลวังบาล เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทอดเป็นทิวยาว ลักษณะพื้นที่จะลาดเอียงจากทางด้านทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ และมีลำห้วยวังบาลไหลผ่านทางตอนกลางของตำบล สภาพภูมิอากาศ มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน จากเดือน พฤษภาคม ถึง ตุลาคม ฤดูหนาว จากเดือน พฤศจิกายน ถึง มกรคม ฤดูร้อน จากเดือน กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน คำขวัญตำบลวังบาล ทับเบิกสูงเสียดฟ้า ยอดภูผาเทียมเมฆ เพชรน้ำเอกถิ่นวังบาล มะขามหวานนามละบือ เรืองชื่อเจ้าตอมาตย์ วาดวิจิตรโบสถ์นาทราย สายศรัทธาธาตุปู่เถร ความร่มเย็นตลอดกาล
ข้อมูลลานกีฬา, สนามกีฬา และเครื่องออกกำลังกาย
ข้อมูลลานกีฬา และสนามกีฬา จำนวนลานกีฬา และสนามกีฬาในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล จัดให้มีเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในการแข่นขันกีฬาหรือออกกำลังกาย ที่สามารถใช้เล่นกีฬาและนันทนาการได้ตลอดทั้งปีจำนวนทั้งสิ้น 17 แห่ง ดังนี้ 1. หมู่ที่ 1 ลานกีฬาบ้านภูปูน 2. หมู่ที่ 2 ลานกีฬาบ้านนาทราย 3. หมู่ที่ 3 ลานกีฬาบ้านนาทราย 4. หมู่ที่ 4 ลานกีฬาบ้านน้ำครั่ง 5. หมู่ที่ 5 ลานกีฬาบ้านน้ำครั่ง 6. หมู่ที่ 6 ลานกีฬาบ้านหนองไผ่ 7. หมู่ที่ 7 ลานกีฬาบ้านน้ำครั่งน้อย 8. หมู่ที่ 8 ลานกีฬาบ้านวังบาล 9. หมู่ที่ 9 ลานกีฬาบ้านวังบาล 10. หมู่ที่ 10 ลานกีฬาบ้านวังบาล 11. หมู่ที่ 11 ลานกีฬาบ้านเหมืองแบ่ง 12. หมู่ที่ 12 ลานกีฬาบ้านขี้นาค 13. หมู่ที่ 13 ลานกีฬาบ้านห้วยหอย 14. หมู่ที่ 14 ลานกีฬาบ้านทับเบิก 15. หมู่ที่ 15 ลานกีฬาบ้านวังบาล 16. หมู่ที่ 16 ลานกีฬาทับเบิกใหม่ 17. หมู่ที่ 17 ลานกีฬาบ้านนาสะอุ้ง ข้อมูลเครื่องออกกำลังกาย จำนวนเครื่องออกกำลังกายในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลวังบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง ที่สามารถใช้งานได้ ดังนี้ 1. อาคารอเนกประสงค์บ้านน้ำครั่ง ในพื้นที่หมู่ 4 2. โรงเรียนบ้านวังบาล ในพื้นที่หมู่ 9 3. วัดศรีฐานปิยราม ในพื้นที่หมู่ 15 4. วัดศรีมงคล บ้านนาทราย ในพื้นที่หมู่ 2 5. สนามกลางหมู่บ้าน บ้านทับเบิก ในพื้นที่หมู่ 16
บ้านภูปูน
บ้านภูปูน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา บ้านภูปูน เป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นประมาณ 100 ปีเศษ มีตำนานเล่าว่า เดิมบริเวณนี้เป็นป่าอยู่ใกล้เชิงเขา ชาวบ้านนาทราย ประมาณ 4-5 ครอบครัว ได้มาถางป่าเพื่อทำไร่ ชาวบ้านจุดไฟเผากิ่งไม้แห้งที่ถางไว้ ไฟไหม้ลุกลามเป็นบริเวณกว้างจนถึงหินก้อนหนึ่ง ชาวบ้านเกรงว่าไฟจะลุกลามไปมากกว่าที่ถางไว้ จึงได้ตักน้ำไปดับไฟ เมื่อก้อนหินเย็นลงชาวบ้านได้จับและคุ้ยเขี่ยก้อนหินดู ปรากฏว่าหินก้อนนั้นแตกเป็นผง มีลักษณะคล้ายปูน จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านไร่ภูปูน” ต่อมา มีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่รวมกันมากขึ้น จึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้น และชื่อว่า “บ้านภูปูน” สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปของบ้านภูปูนเป็นที่ราบเชิงเขา มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวังบาล ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านพร้าว และบ้านเนิน ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาทราย และบ้านโจะโหวะ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเหมืองแบ่ง ตำบลวังบาล การคมนาคม อยู่ห่างจากอำเภอหล่มเก่า ระยะทาง 9 กิโลเมตร มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2372 ผ่านหมู่บ้าน มีรถสามล้อเครื่อง (ชาวบ้านเรียก รถตุ๊กตุ๊ก) วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างหมู่บ้านและอำเภอหล่มเก่า ประชากร มีประชากรทั้งหมด 364 คน ชาย 188 คน หญิง 176 คน จำนวน 114 ครัวเรือน อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร และมีบางส่วนที่รับจ้างทั่วไป มีพื้นที่ทำนาประมาณ 225 ไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวเหนียว ยาสูบ มะขาม ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ นิยมไปทำบุญที่วัดในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตรในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา เป็นต้น ประเพณีท้องถิ่นที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบทอดกันมา คือ ประเพณีสรงน้ำถ้ำ (มีถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 2 องค์) ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เจ้าถ้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านจะต้องนับถือเคารพบูชา ใครจะลบหลู่ไม่ได้ พอถึงขวบปี (รอบปี) ชาวบ้านจะจัดงานบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (เจ้าถ้ำ) โดยการนำของคนทรงเจ้าจะนำขบวนแห่บั้งไฟ มาสรงน้ำและจุดบั้งไฟถวาย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว การแต่งกาย ปัจจุบันแต่งตามสมัยนิยม ภาษา ใช้ภาษาพื้นบ้าน สำเนียงพูดคล้ายชาวลาวเวียงจันทร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวบ้านนิยมนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นภาชนะที่ใช้ในครัวเรือน เช่น หวด กระติบข้าว กระด้ง ผู้มีความชำนาญด้านนี้ คือ นายเทศ ระลึก , นายฮั่ง ศรีเศียร , นายสมัคร ทองขาว นายหนู วันแสนซื่อ , นายเรศ ระลึก การทำไม้กวาดดอกหญ้า ผู้มีความชำนาญด้านนี้คือ นายเรศ ระลึก , นางเพ็ญ ดวงอุปปะ การทำบั้งไฟ ผู้มีความชำนาญด้านนี้ คือ นายหนู วันแสนซื่อ, นายสมัคร ทองขาว ,นายเลื่อน จำปาศักดิ์ และนายแสวง สายบุญเกิด สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ บ้านภูปูน มีสถานที่ท่องเที่ยว คือ ถ้ำภูปูน น้ำตกตาดภูปูน และทิวทัศน์บนภูปูน
บ้านภูปูน





บ้านนาทราย
บ้านนาทราย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 3 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา จากการบอกเล่าของคุณยายบุรี กระทู้ บ้านนาทรายตั้งขึ้นประมาณ 300-400 ปี มาแล้ว พื้นเพของคนบ้านนาทรายเป็นคน เวียงจันทร์และคนหลวงพระบาง ซึ่งได้อพยพมาสร้างบ้านเรือนอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เพราะว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำมาหากิน คำว่า “นาทราย” มาจากสภาพพื้นที่นาของบริเวณหมู่บ้านนี้เป็นดินทราย จึงได้ชื่อว่า “บ้านนาทราย” สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปของหมู่บ้านนาทรายเป็นที่ราบ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่ง ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโจะโหวะ ตำบลบ้านเนิน ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวัดทุ่งธงไชย ตำบลหล่มเก่า ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านภูปูน การคมนาคม มีถนนลาดยางผ่านกลางหมู่บ้าน ระยะทางจากอำเภอหล่มเก่าถึงบ้านนาทราย 4 กิโลเมตร มีรถสามล้อเครื่องวิ่งโดยสารตลอดทั้งวัน ประชากร หมู่ที่ 2 มีประชากร 531 คน ชาย 240 คน หญิง 291 คน จำนวน 152 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 มีประชากร 528 คน ชาย 246 คน หญิง 281 คน จำนวน 175 ครัวเรือน อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมะขาม ศาสนาวัฒนธรรมและประเพณี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ นิยมไปทำบุญที่วัดในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา มีค่านิยมปฏิบัติตามผู้นำหมู่บ้าน เป็นแกนนำในการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาส ผู้อาวุโส ประเพณีที่ถือปฏิบัติติดต่อกันมาช้านาน คือ ประเพณีบุญบั้งไฟ การแห่นางแมว ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ การบวชนาค การแต่งงาน ประเพณีสงกรานต์ (ซึ่งจะมีการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเพื่อขอพร มีการเล่นสาดน้ำและการละเล่นพื้นบ้าน เช่น การคัดสะบ้า ตี่จับ งูกินหาง ต่อไก่ ขว้างเอาลูก ตีตูม แย่งไข่) การละเล่นพื้นบ้าน ชาวบ้านนาทรายสมัยก่อนมีการเล่นแมงตับเต่า เป็นการแสดงลักษณะคล้ายลิเก แต่ใช้ตัวแสดงเป็นผู้ชายล้วนแสดงเป็นเรื่องราว บทร้องที่ใช้เป็นบทกลอนสละสลวยและสนุกสนานมาก ภาษา ประชาชนพูดภาษาพื้นบ้าน (ภาษาหล่ม) ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำผลิตภัณฑ์จากมะขาม เช่น มะขามคลุก มะขามแก้ว มะขามแช่อิ่ม ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ คือ นางประพิศ ท่อนแก้ว อาจารย์ 2 โรงเรียนหล่มเก่าพิทยาคม สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ วัดศรีมงคลบ้านนาทราย เดิมชื่อวัดทรายงาม มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารสวยงามมากชาวบ้านเรียกว่า “ทรงเอวชัน” เกศของพระพุทธรูป เป็นรูปเปลวไฟ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถ (สิม)ของวัดศรีมงคล มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังอายุประมาณ 180 ปี ผู้เขียนชื่อ นายแดง ไม่ทราบว่ามาจากไหน ท่านเป็นโรคคุดทะราด พวกชาวบ้านเรียกท่านว่า “ตาขี้ทูด” ค่าจ้างช่างที่เขียนภาพเป็นเงิน 1 ชั่ง 4 ตำลึง ใช้เวลาเขียนประมาณ 4 ปี ลักษณะของภาพเป็นภาพเขียนที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น สีสันสวยงาม ใช้สีฝุ่นผสมกาวยางไม้ สีเปลือกไม้ และสีดินระบายภาพ ตัดเส้นแบบแบนเขียนภาพบนฝาผนังปูน (ปางมารสะดุ้ง) ปู่ใจ นันทะเป็นผู้แกะสลัก และรูปพุทธประวัติเล่าถึงเรื่องพระเจ้าสิบชาติ นรก สวรรค์ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระราชมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และภาพพระพุทธเจ้าโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 4 ปัจจุบันกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกของชาติ
บ้านนาทราย







บ้านน้ำครั่ง
บ้านน้ำครั่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา เดิมบ้านน้ำครั่งมีเพียงหมู่บ้านเดียว คือ หมู่ที่ 4 มีนายผอง คำเครือ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก (เสียชีวิตแล้ว) คนสมัยก่อนตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง เพื่อจะได้ใช้น้ำอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ด้วย คลองบ้านน้ำครั่งนั้นมีต้นฉำฉาขึ้นอยู่มากมาย เมื่อว่างจากการทำไร่ทำนา ชาวบ้านก็นิยมเลี้ยงครั่งเป็นอาชีพเสริม เมื่อฝนตกน้ำฝนก็จะชะล้างเอาดินทรายปนครั่งลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำที่ไหลมาตามลำคลองเป็นสีแดงเหมืองครั่ง ก็เลยเรียกชื่อบ้านว่า “บ้านน้ำครั่ง” สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปของบ้านน้ำครั่งเป็นที่ราบใกล้แม่น้ำ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหนองไผ่ ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนาทราย และบ้านวังบาล ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหินกลิ้ง และแม่น้ำพุง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่งน้อย ประชากร หมู่ที่ 4 มีประชากร 641 คน ชาย 277 คน หญิง 277 คน 199 ครัวเรือน หมู่ที่ 5 มีประชากร 377 คน ชาย 185 คน หญิง 195 คน 134 ครัวเรือน อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ได้แก่ ทำนา ทำไร่ บางส่วนค้าขายและรับจ้างทั่วไป พืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ยาสูบ ถั่วเขียว และมะขาม ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 85 พรรษา และนับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 15 นิยมทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ประเพณีที่นิยมทำกันมาช้านาน ได้แก่ ทำบุญข้าวเปลือก ก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ บุญเทศน์มหาชาติในเดือนสาม กวนข้าวทิพย์ในวันออกพรรษา การแต่งกายเดิมใส่เสื้อหม้อฮ่อม ปัจจุบันแต่งกาย สมัยนิยม ประชาชนพูดภาษาพื้นเมืองมีสำเนียงคล้ายภาษาลาวหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านน้ำครั่ง การละเล่นพื้นบ้าน นิยมเล่นสะบ้า โยนสะบ้าใส่สตางค์ แม่นางกวัก และแมงตับเต่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น นายสิน ทองยิ่ง เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการฉลุกระดาษเป็นลวดลาย เพื่อใช้ติดโลงศพ ทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว การทำมะขามแช่อิ่ม ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ คือ นางพยอม กันแต่ง สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ วัดโพธิ์ทองบ้านน้ำครั่ง มีศาลาเปรียญเก่าแก่ ซึ่งเสาเป็นต้นไม้กลม ๆ ที่ใหญ่มาก (ปัจจุบันหาดูได้ยาก) นอกจากนี้ยังมีอุโบสถเก่าที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้
บ้านน้ำครั่ง






บ้านหนองไผ่
บ้านหนองไผ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา เดิมบ้านหนองไผ่ มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 7- 8 ครอบครัว ขึ้นอยู่กับบ้านน้ำครั่ง ต่อมาชาวบ้านน้ำครั่งพากันอพยพไปอาศัยอยู่ด้วย ทำให้มีจำนวนประชากรมากขึ้น ชาวบ้านจึงได้ขอแยกเป็นหมู่บ้านใหม่ ชื่อว่า “บ้านหนองไผ่” เพราะว่าบริเวณดังกล่าวมีหนองน้ำที่มีป่าไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพโดยทั่วไปเป็นที่เนินมีต้นไม้มากมาย มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหินฮาว ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่ง ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองบัวแก้ว ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านขี้นาค การคมนาคมมีถนนคอนกรีดจากบ้านน้ำครั่งไปยังบ้านหนองไผ่ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ประชากร ประชากรทั้งหมด 206 คน ชาย 101 คน หญิง 105 คน 64 ครัวเรือน อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ทำไร่ ทำนาบ้าง ปลูกผักสวนครัว และค้าขายมะขามหวาน พืชเศรษฐกิจในหมู่บ้าน ได้แก่ ถั่วเขียว ข้าวโพด และมะขาม ศาสนาวัฒนธรรมและประเพณี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ 95 นิยมทำบุญที่วัดธรรมวิเวก อีกร้อยละ 5 นับถือศาสนาคริสต์ ประเพณีที่ปฏิบัติ คือ นิยมทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น การแต่งกาย ชาวบ้านแต่งตามสมัยนิยม ภาษา ชาวบ้านพูดภาษาพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านน้ำครั่ง และการละเล่นพื้นบ้าน นิยมเล่นสะบ้า โยนสะบ้าใส่สตางค์
บ้านหนองไผ่





บ้านน้ำครั่งน้อย
บ้านน้ำครั่งน้อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา การตั้งถิ่นฐานครั้งแรกจะมีบ้านเรือนเก่าแก่อยู่ประมาณ 6 - 7 หลังคาเรือน บริเวณนั้นติดกับคลองน้ำครั่ง เหมาะสำหรับตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างมาก ประชากรของบ้านน้ำครั่ง เมื่อแต่งงานแล้วก็แยกออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่นมากมาย จนกระทั่งมีจำนวนประชากรพอที่จะจัดตั้งเป็นหมู่บ้านได้ จึงได้ขอแยกหมู่บ้านเป็น “บ้านน้ำครั่งน้อย” มีนายเคลื่อน โถเมือง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นที่ราบใกล้คลองน้ำครั่ง มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขี้นาค ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านวังบาล ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่ง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ป่าและทุ่งนา การคมนาคมมีถนนลาดยางจากบ้านน้ำครั่งถึงบ้านน้ำครั่งน้อย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ประชากร มีประชากร 273 คน ชาย 145 คน หญิง 128 คน 77 ครัวเรือน อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทำนา ทำไร่ และค้าขาย พืชเศรษฐกิจในหมู่บ้าน ได้แก่ ข้าว ใบยาสูบ ถั่วเขียว ข้าวโพด และมะขาม ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 80 นับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 20 ประชาชนนิยมทำบุญในเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา การแต่งกายประชาชนบ้านน้ำครั่งน้อย แต่งตามสมัยนิยม ประชาชนพูดภาษาพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านน้ำครั่ง
บ้านน้ำครั่งน้อย





บ้านวังบาล
บ้านวังบาล ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 9 10 และหมู่ที่ 15 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา ตามหลักฐานสมุดข่อยวัดบ้านโตก ซึ่งพระอธิการ จำปา ฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดหินกลิ้งได้แปลเป็นภาษาไทย ทางวัดศรีฐานได้นำมาเขียนประวัติวัดศรีฐาน ได้บันทึกว่าประชาชนได้อพยพมาจากล้านช้างหลวงพระบาง น้ำลี่แสนศรี (แสนหวี) โดยการนำของขุนวังบังบาล สองพี่น้องและได้มาสร้างบ้านแปงเมืองที่ศรีฐานวังบาล คือหมู่บ้านวังบาลในปัจจุบัน คำว่าวังบาล มาจากคำว่าวังบ่าน (บ่านเป็นภาษาพื้นบ้านแปลว่า บิ่น พัง ชำรุด เช่น ขวานบ่าน หมายถึง ขวานชำรุด) “วังบ่าน” ในที่นี้หมายถึง การพังทะลายของวังน้ำ ของห้วยวังบาล หรืออีกนัยหนึ่ง วังบาน หมายถึง วังน้ำในห้วยวังบาลเกิดการกัดเซาะของน้ำ ทำให้เป็นวังน้ำกว้างขึ้น ต่อมา “วังบาน” จึงได้เปลี่ยนเป็น “วังบาล” สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม บ้านวังบาล มีสภาพทั่วไปเป็นที่ราบ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่ง ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโจะโหวะ และบ้านภูปูน ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนาทราย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเหมืองแบ่ง การคมนาคม บ้านวังบาลมีทางหลวงหมายเลข 2005 ผ่านกลางหมู่บ้านและมีเส้นทางซึ่งเป็นถนนลาดยางติดต่อกับหมู่บ้านอื่น เดินทางได้สะดวกตลอดปี ประชากร หมู่ที่ 8 มีประชากร 527 คน ชาย 228 คน หญิง 299 คน 183 ครัวเรือน หมู่ที่ 9 มีประชากร 736 คน ชาย 344 คน หญิง 392 คน 261 ครัวเรือน หมู่ที่ 10 มีประชากร 912 คน ชาย 425 คน หญิง 487 คน 316 ครัวเรือน หมู่ที่ 15 มีประชากร 434 คน ชาย 216 คน หญิง 218 คน 146 ครัวเรือน อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำการเกษตร รับจ้าง และรับราชการ พืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน ผัก และยาสูบ ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีบางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์ ประเพณีที่ปฏิบัติภายในหมู่บ้าน คือ การทำบุญตักบาตร การเวียนเทียน ในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีสงกรานต์ การเลี้ยงผีตาแฮก (เป็นการเซ่นไหว้ผีที่นา เพื่อเป็นการขอบคุณที่ทำให้ได้เก็บผลผลิต จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว)ประเพณีเลี้ยงปี ประเพณีบุญบั้งไฟ การแต่งกาย หญิงสูงอายุจะใส่ผ้าซิ่นหมี่ ซึ่งมีหลายลาย เช่น หมี่ข้อ หมี่วง สวมเสื้อคอกลม ผ่าอก มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว การละเล่นพื้นบ้านที่นิยมติดต่อกันมาช้านาน คือ การเล่นแมงตับเต่า เป็นการแสดงศิลป วัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวตำบลวังบาลชนิดหนึ่ง ผู้แสดงเป็นคนภายในหมู่บ้าน คณะแสดงรุ่นสุดท้าย คือ คณะของนายสิริ สายจันเจียม (ประมาณ พ.ศ. 2503 - 2505) เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องนิทานชาดก และวรรณคดี เช่นเรื่อง สังข์ศิลป์ไชย เงาะป่า นางยอพระกลิ่น ฯลฯ การเล่นแม่นางด้ง แม่นางกวัก การเล่นไข่เด่า การเล่นหมากข้าวจ้ำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทอผ้าไหม ส่วนมากจะเป็นผ้าถุง สายหมี่ข้อ หมี่วง ผู้มีความสามารถด้านนี้ คือ นางรัก สายคำมี การทอผ้าด้าย ผู้มีความสามารถด้านนี้คือ นางก้านก่อง สายจันยูร ,นางเสวือง กุลทอง การจักสาน ผู้มีความสามารถด้านนี้ คือ นายเล็บ วงกลม สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ วัดจอมศรี (ดอยสะเก็ด) เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินมีทิวทัศน์สวยงาม ครูบาเสมอ เป็นผู้ริเริ่ม ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505 จุดเด่นที่สำคัญของวัด มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขีขาวองค์ใหญ่ และหอระฆังไม้เสาเดียว ศาลเจ้าพ่อตอมาตย์ เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านสักการะบูชา ตามประวัติต้นมาด(ต้นตะเคียน) เป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่ ในช่วงนั้นพระเจ้าแผ่นดินต้องการต้นไม้ไปขุดทำเรือ จึงประกาศไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ให้หาไม้ตะเคียนมาทำเรือพระที่นั่ง กรรมการเมืองประกอบด้วย ขุนจก เป็นหัวหน้า ขุนศรี ขุนไชย ขุนไกร ขุนเดช ขุนรักษ์ ขุนลู ขุนพัด ฯลฯ ซึ่งได้มาพบไม้มาดที่บ้านวังบาล ได้ทำพิธีโค่นต้นไม้ ใช้เวลาโค่นหนึ่งเดือนเศษไม้จึงล้ม และได้จัดพิธีขอขมาผีสางนางไม้โดยนิมนต์พระ 100 รูป ให้ฉันอาหาร 100 สำรับ บาตอไม้มาดที่โค่นลง แล้วดำเนินการถากไม้ให้เป็นรูปเรือ สะเก็ดของไม้ได้นำไปกองห่างจากตอไม้มาดประมาณ 1 กิโลเมตร กองสูงถึง 30 เมตร วงกลมโดยรอบ 1,000 เมตร ปัจจุบันเป็นเนินเขาเล็ก ๆ เรียกว่า “ดอยสะเก็ด” ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดดอยสะเก็ดในปัจจุบัน เจดีย์วัดโพธิ์ (เจดีย์ปู่เถร) เป็นเจดีย์เก่าแก่ประจำหมู่บ้าน เป็นศิลปลาวผสมศิลปเชียงแสนปรากฏปีที่สร้าง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านวังบาลทางทิศเหนือ ชาวบ้านเชื่อว่ามี “ปู่เถร” เป็นผู้ให้ความคุ้มครองรักษา ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อมีเด็กร้องไห้ไม่หยุด แสดงว่าปู่เถรไปหา พ่อแม่ของเด็กจะต้องเอาคำหมาก พาหวาน บุหรี่ มาถวายเด็กจึงจะหยุดร้องไห้ วัดศรีฐานปิยาราม สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2225 เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมานาน โดยมีหลวงพ่อวัดศรีฐานเป็นผู้นำจัดสร้างวัดจึงได้มีนามว่า วัดศรีฐาน แต่ชาวบ้าน นิยมเรียกว่าวัดวังบาล ตามชื่อ หมู่บ้าน อุโบสถก็ได้ จัดสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเก่านับเป็นวัดที่ได้รับวิสุงคามสิมานับตั้งแต่ในราว พ.ศ. 2225 และยังมีศูนย์วัฒธรรมเฉลิมราช วัดศรีฐานปิยารามตำบลวังบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนผู้สูงวัย ที่ทุกสัปดาห์จะมารวมตัวกันทำกิจกรรต่างๆ เช่น การทอผ้าพื้นเมือง ปลูกพืชสมุนไพร ยังเป็นพิพิทธภัณฑ์รวมรวมของเก่า ที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า เช่น ฟืมไม้ เตารีถ่าน กระสวย ฯลฯ
บ้านวังบาล










บ้านเหมืองแบ่ง
บ้านเหมืองแบ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา บ้านเหมืองแบ่ง เดิมชาวบ้านเรียกว่า“บ้านไท” ราษฎรอพยพมาจากบ้านวังบาล และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากทำเล ที่ตั้งบ้านเหมืองแบ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ราบเชิงเขา ผู้นำราษฎรมาบุกเบิกคนแรก คือ ปู่ยกกระบัตร ต่อมาเมื่อมีราษฎรอพยพมาเพิ่มมากขึ้น ได้มีการขุดเหมือง (คลองส่งน้ำ) เพื่อแบ่งน้ำทำการเกษตร จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านเหมืองแบ่ง” สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขา อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอหล่มเก่า มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านขี้นาค ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านภูปูน ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านวังบาล ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านทับเบิก การคมนาคม บ้านเหมืองแบ่งอยู่ห่างจากอำเภอหล่มเก่าประมาณ 8 กิโลเมตร มีถนนลาดยางตัดผ่าน การเดินทางไปมาได้สะดวกตลอดทั้งปี มีรถสามล้อเครื่องรับจ้างวิ่งผ่านตลอดเวลา ประชากร มีประชากร 1,049 คน ชาย 484 คน หญิง 565 คน 313 ครัวเรือน อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ได้แก่ การทำนา ทำไร่ ปลูกยาสูบและพืชผักต่าง ๆ และทำสวนมะขาม ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ นิยมทำบุญในเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน คือ การแห่เทียนพรรษา บุญพระเวส การแต่งกายแต่งตามสมัยนิยม ชาวบ้านเหมืองแบ่งพูดภาษาท้องถิ่นที่เรียกว่า “ลาวหล่ม” ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจักสานไม้ไผ่ทำเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระด้ง กระบุ กระจาด กระติบข้าว เป็นต้น สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ น้ำตกวังฮาง (น้ำตกเหมืองแบ่ง) เป็นน้ำตกเล็ก ๆ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร อ่างเก็บน้ำวังภูหนีบ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเพาะพันธืปลาน้ำจืด ฟื้นฟูระบบนิเวช และเป็นแหล่งท่องเที่ยว วัดโพนทองผาเมือง ชื่อของวัดโพนทองมีที่มาจากจอมปลวกขึ้นมาสูงเป็นโพนและมีไม้ตะเคียนทองใหญ่ขึ้นอยู่ในบริเวณวัด มีอุโบสถศาลากลางเปรียญ กุฎิสงฆ์จำนวน 2 หลัง มีโบสถ์ที่สร้างด้วยความสวยงาม ละเอียดอ่อนและมีวัถุมงคลของโบราณ เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของชาวบ้าน มีรูปั้น ราหูอมจันทร์ นางกวัก นางธรณี และมีพระธาตุศรีมิ่งเมือง ได้จัดงานฉลองสมโภชน์พระธาตุ เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ลานปล่อยตัวกระโดดร่ม(ร่อน)พารามอเตอร์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ นิยมมาเล่นกันจำนวนมาก ชมต้นสะพุงใหญ่ ป่าดอกดีกั้ง สวนนกยูง
บ้านเหมืองแบ่ง










บ้านขี้นาค
บ้านขี้นาค ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา บ้านขี้นาค มีห้วยน้ำครั่ง ซึ่งเป็นลำน้ำขนาดเล็ก ไหลจากภูเขาผ่านหมู่บ้านเป็นเส้นทางคดเคี้ยวตามร่องหิน ดูคล้ายงูตัวใหญ่เลื้อยไปมา หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่บนสองฝั่งของลำน้ำดูแล้วเสมือนหนึ่งว่าหมู่บ้านขึ้นอยู่บนหลังของงูใหญ่ (ชาวบ้านเรียกว่า นาค) ชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านขี่นาค” ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น “บ้านขี้นาค” จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน บ้านขี้นาคตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีเศษ โดยการอพยพขอชาวบ้านที่อยู่ทางตอนเหนือ (อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) ซึ่งหนีภัยความแห้งแล้งมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากทำเลที่จะสามารถทำมาหากินได้ เมื่อมีประชาชนมากขึ้นจึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้านมาจนถึงทุกวันนี้ สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม บ้านขี้นาค มีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยหอย ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านวังบาล บ้านเหมืองแบ่ง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านน้ำครั่ง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ภูห้วยน้ำครั่ง การคมนาคม บ้านขี้นาคอยู่ห่างจากอำเภอหล่มเก่า 9 กิโลเมตร มีถนนลาดยาง สายแก่งเสี้ยววังบาล ผ่านหมู่บ้านเดินทางสะดวกตลอดปี ประชากร มีประชากร 864 คน ชาย 413 คน หญิง 451 คน จำนวน 271 ครัวเรือน อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ มะขาม ถั่งเหลือง ข้าว ยาสูบ และพืชผักสวนครัว ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ นิยมทำบุญตามประเพณีของชาวพุทธทั่วไป ประเพณีที่นิยมถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน คือ การกวนข้าวทิพย์ ประเพณีข้าวประดับดิน ประเพณีสู่ขวัญกินดอง (การแต่งงาน) การแต่งกาย โดยทั่วไปนิยมแต่งตามสมัยนิยม ภาษา ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การสานหวด ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ คือ นายเกิน แก้วดวงดี การไพหญ้าคา ผู้ที่มีความสามารถด้านนี้ คือ นายนง ทองแว่น
บ้านขี้นาค







บ้านห้วยหอย
บ้านห้วยหอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา บ้านห้วยหอย ตั้งอยู่ริมห้วยซึ่งมีหอยหอมอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านห้วยหอย” ต่อมามีถนน รพช.ตัดผ่านหมู่บ้าน ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจึงได้อพยพบ้านเรือนมาอยู่ริมถนนจนถึงปัจจุบันนี้ สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปของบ้านห้วยหอยเป็นที่ราบ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวังหว้า – วังรู ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านขี้นาค ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองหญ้าไทร ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ภูแผงม้า การคมนาคม มีถนนของกรมโยธาธิการ สายบ้านห้วยหอย – บ้านโนนผักเน่า ผ่านหมู่บ้าน ระยะทางจากอำเภอหล่มเก่า 13 กิโลเมตร ประชากร มีประชากร 528 คน ชาย 248 คน หญิง 280 คน 163 ครัวเรือน อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร และรับจ้างทั่วไป พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ ข้าว ข้าวโพด มะขาม และยาสูบ ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ นิยมทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ การทำบุญแจกข้าว (ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติที่ตายไปแล้ว) ประเพณีสงกรานต์การทำบุญหมู่บ้าน มีภาษาพูดเป็นภาษาท้องถิ่น “ภาษาหล่ม” สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ น้ำตกตาดหมอก และน้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก 2 ชั้น อยู่ห่างจากหมู่บ้าน 2 กิโลเมตร
บ้านห้วยหอย








บ้านทับเบิก
บ้านทับเบิก ตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา เดิมบ้านทับเบิกมีชื่อว่า “บ้านถ้ำเบิก” เพราะแต่เดิมมีถ้ำที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ผู้คนที่มีธุระเดินทางผ่านไปมาละแวกนั้น ต้องไปบอกกล่าวขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำนั้นก่อน เพื่อเป็นการเบิกทาง (ขอผ่านทาง) มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายได้ จึงเรียกชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำเบิก” ถ้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากด่านป่าไม้ตรงทางแยกเข้าหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1,000 เมตร ปัจจุบันดินได้พังทับถมปากถ้ำหายไปหมดแล้ว ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้าน “บ้านทับเบิก” บ้านทับเบิกตั้งมานานประมาณ 70 - 80 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2510 ได้มีบุคคลคณะหนึ่งนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาปลุกระดมชวนเชื่อ จนทำให้ชาวบ้านทั้งหมดหลงเชื่ออพยพเข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลเป็นระยะเวลา ประมาณ 16 ปี ชาวบ้านทั้งหมดจึงได้วางอาวุธเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และได้กลับมาสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านเดิม สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพทั่วไปของบ้านทับเบิกส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีหน้าผาสูงชันหลังหมู่บ้านทิวทัศน์สวยงามมากสามารถมองเห็นตัวเมืองต่าง ๆ คือ หล่มเก่า หล่มสัก น้ำหนาว เขาค้อ เพชรบูรณ์ ในเขตจังหวัดเลย คือ ภูกระดึง ภูหลวง ภูเรือ ภูหอ อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูหนาวและฤดูฝน ในฤดูฝนจะมีหมอกปกคลุมตลอดวันตลอดคืน บางครั้งจึงเรียกว่า “เมืองในหมอก” มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหมากแข้ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทับเบิกใหม่ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเหมืองแบ่ง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานภูมิร่องกล้า การคมนาคม มีถนนยุทธศาสตร์ลาดยางตลอดสาย – สามแยกบ้านโจะโหวะ – ภูหินร่องกล้า ผ่านหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อมต่อถนนคอนกรีตเสริมเหล็กแยกเข้าหมู่บ้านเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกตลอดปี บ้านทับเบิกอยู่ห่างจากอำเภอหล่มเก่า ประมาณ ๓๓ กิโลเมตร ประชากร บ้านทับเบิกมีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,384 คน ชาย 678 คน หญิง 706 คน ครัวเรือน 355 ครัวเรือน เป็นชาวเขาเผ่าม้งทั้งหมด คำว่า “ม้ง” เป็นคำที่ชาวเขาเผ่าม้งใช้เรียกชื่อเผ่าของตนเอง ถือเป็นคำสุภาพ ส่วนคำว่า “แม้ว” หมายถึง มีความเร็วเหมือนแมวป่า เป็นฉายาที่คนจีนใช้เรียกม้ง เพราะในการสู้รบกันนั้นพวกม้งมีทั้งความฉับไวและเร็วมาก ดังนั้น ถ้าใครเรียกม้งเป็นแม้วชาวม้งจะโกรธมาก เพราะถือว่าเป็นการดูถูกว่า ม้งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง อาชีพ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการทำไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ กะหล่ำปลี ข้าวโพด ถั่วลันเตา ขิง ลูกท้อ และลิ้นจี่ ศาสนาวัฒนธรรมและประเพณี ประชากรร้อยละ 80 นับถือลัทธิความเชื่อเก่า ๆ ร้อยละ 10 นับถือศาสนาพุทธ และอีกร้อยละ 10 นับถือศาสนาคริสต์ ประชาชนที่นับถือลัทธิความเชื่อเก่า จะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในโอกาสต่าง ๆ คือ วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การขึ้นบ้านใหม่ เวลาที่มีการเจ็บป่วยก็จะมีวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมตามความเชื่อ ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ จะมีการทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา ส่วนประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์ จะเข้าทำพิธีกรรมในโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ประเพณีที่นิยมและนับถือมาช้านาน คือ ประเพณีปีใหม่ การแต่งงาน สู่ขวัญ การกินข้าวใหม่ การขึ้นบ้านใหม่ การเปลี่ยนชื่อ งานศพ จอปลี (การทำบุญแจกข้าว) การแต่งกาย ผู้ชายใส่กางเกงกุ๊ยขายาว หรือกางเกงโสร่ง มีผ้าสีแดงลายปัก รัดเอว เสื้อแขนยาวมีลายปักรัดแขนเสื้อข้างละสองที่ คือ ต้นแขนและข้อมือ ผู้หญิงใส่กระโปรงลายปัก มีผ้าลายปักรัดเอวสวยงามมาก เสื้อแขนยาวคล้ายของผู้ชาย ปัจจุบันการแต่งกายดังกล่าวหาดูได้ยาก นอกจากงานประเพณีปีใหม่เท่านั้น คนรุ่นใหม่แต่งกายตามสมัยนิยม ภาษา ประชาชนทั้งหมดพูดภาษาม้งโดยตรง มีสำเนียงคล้ายภาษาจีน การละเล่นพื้นบ้านที่นิยมสืบต่อกันมาช้านาน คือ การตีลูกข่าง ลูกข่างทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ในสมัยโบราณใช้เป็นอาวุธลับชนิดหนึ่ง สามารถขว้างปาใส่ศีรษะของคู่อริได้อย่างแม่นยำและรุนแรงในระยะ 10 - 20 เมตร ทำให้ตายได้ ต่อมาได้กลายเป็นการละเล่นไป การตีลูกข่าง เล่นเพื่อแข่งขันในเรื่องความแม่นยำและความสนุกสนาน การโยนลูกข่าง ลูกข่างทำมาจากเศษผ้า มีลักษณะกลมขนาดเท่าส้มเขียวหวาน นิยมเล่นในเทศกาลปีใหม่ การโยนต้องโยนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น เป็นคู่ ๆ คู่ใครคู่มัน ในสมัยโบราณถือเป็นการโยนเพื่อเลือกคู่ครอง มีข้อแม้ว่าหญิงชายแซ่เดียวกันจับคู่โยนกันไม่ได้ ตามประเพณีที่ว่า แซ่เดียวกันจะแต่งงานกันไม่ได้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การปักลายผ้าด้วยลวดลายต่าง ๆ ผู้หญิงม้งทุกคน เมื่ออายุประมาณ 5 ขวบ แม่ก็จะเริ่มสอนเรื่องการปักผ้าและเย็บผ้าด้วยลวดลายต่าง ๆ จะกระทั่งโตขึ้น อายุประมาณ 15 ปี ถือว่าจบหลักสูตรผู้หญิงม้ง จึงมีความรู้เรื่องการเย็บผ้าและการปักผ้าเป็นลวดลายต่าง ๆ การตีมีด ผู้ที่มีความสามารถในการตีมีดได้คม ทนทาน อายุการใช้งานนาน คือ นายจ๋าสือ แซ่สง สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ วัดป่าทับเบิก เป็นสถานปฎิบัติธรรมสายธรรมยุตินิกาย จุดเด่นคือ พระมหาธาตุเจดีย์โพธิปักขิยธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2549 พระอาจารย์วัชระ วิจิตโต สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ องค์สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆประรินายก ทรงเมตตาประทาน พร้อมผ้าพระกฐินแก่วัดในปี พ.ศ.2555 ทุ่งดอกพญาเสือโคร่ง หรือที่เรียกกันว่าซากุระเมืองไทย
บ้านทับเบิก








บ้านทับเบิกใหม่
บ้านทับเบิกใหม่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 16 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประวัติความเป็นมา บ้านทับเบิกใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 เดิมบ้านทับเบิกใหม่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านทับเบิก เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขอแยกหมู่บ้าน เมื่อตั้งหมู่บ้านใหม่ จึงเรียกชื่อว่า “บ้านทับเบิกใหม่” สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพโดยทั่วไปของบ้านทับเบิกใหม่เป็นภูเขาสูงมีหน้าผาสูงชัน อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านทับเบิก ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำเพียงดิน ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านเหมืองแบ่ง ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า การคมนาคม มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในหมู่บ้าน และเชื่อมต่อกับถนนสายโจะโหวะ – ภูหินร่องกล้า การเดินทางสะดวกตลอดปี ระยะทางจากบ้านทับเบิกใหม่ถึงอำเภอหล่มเก่า ประมาณ 35 กิโลเมตร ประชากร มีประชากร 1,667 คน ชาย 843 คน หญิง 824 คน จำนวน 554 ครัวเรือน เป็นชาวไทยภูเขาเชื้อ สายม้งทั้งหมด มี นายมา วงศ์ทับเบิก เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ กะหล่ำปลี ข้าว ข้าวโพด ขิง ถั่วลันเตา และลิ้นจี่ ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนร้อยละ 80 นับถือลัทธิความเชื่อเก่า ๆ ร้อยละ 10 นับถือศาสนาพุทธ อีกร้อยละ 10 นับถือศาสนาคริสต์ ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน คือ ประเพณีปีใหม่ การแต่งงานขึ้นบ้านใหม่ เปลี่ยนชื่อ งานศพ การทำบุญแจกข้าว ปัจจุบันนิยมแต่งกายตามสมัยนิยม ส่วนการแต่งกายชุดประจำเผ่าจะพบเห็นในงานเทศกาลปีใหม่เท่านั้น ประชาชนพูดภาษาม้ง การละเล่นพื้นบ้าน คือ การตีลูกข่าง การโยนลูกช่วง (เหมือนกับของบ้านทับเบิก)
บ้านทับเบิกใหม่






บ้านนาสะอุ้ง
บ้านนาสะอุ้ง อยู่ในเขตท้องที่ หมู่ที่ 17 นาสะอุ้ง หรือ " สะนาจุ้ง " ชาวบ้านที่นี่เป็น “กลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น” ชุมชนลาวที่อพยพมาจาก จ.น่านสู่ชุมชนในหุบเขา และวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิม "บ้านนาสะอุ้ง" มีวัฒนธรรมเผ่าถิ่นสัมผัส มีอาหารพื้นบ้าน ขนมไทย เครื่องดนตรีโบราณ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ส่วนไฟฟ้านั้นชุมชนบ้านนาสะอุ้ง ใช้แผงโซล่าเซลล์ ไฟฟ้ามีเป็นช่วงเวลา ไฟฟ้าไม่ได้มีตลอด ห่างจากทับเบิก 12 กม. สภาพภูมิศาสตร์และการคมนาคม สภาพโดยทั่วไปของบ้านนาสะอุ้ง เป็นหุบเขา มีลักษณะเป็นแอง อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีอาณาเขตติดต่อดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านหมากแข้ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทับเบิก ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านห้วยหอย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า การคมนาคม ทางเข้าชุมชนมี 2 ทาง -ทางแรกคือเข้าจาก ภูทับเบิก ถึงแยกทางเข้าวัดป่าภูทับเบิก ตรงยาวไปราว 10 กม. จะพบชุมชนแห่งนี้ -ทางที่ 2 เข้าจากถนนสายหล่มเก่า-ด่านซ้าย มาทางชุมชนหมากแข้ง-ชุมชนนาสะอุ้ง ระยะทางเพียง 6กม.(ทางหลัก) ประชากร มีประชากร 247 คน ชาย 122 คน หญิง 125 คน จำนวน 86 ครัวเรือน เป็น "กลุ่มชาติพันธ์ถิ่น" อาชีพ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด ขิง กาแฟ ศาสนา วัฒนธรรม และประเพณี ประชาชนนับถือทั้งศาสนาพุทธ คริสต์และผีบรรพบุรุษ ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน คือ ประเพณีปีใหม่ ประเพณีกินข้าวใหม่ คริสมาส
บ้านนาสะอุ้ง