messager
local_cafe สถานที่ท่องเที่ยว
ศาลเจ้าพ่อตอมาตย์
ตำนาน คือ เรื่องที่เล่าสืบทอดกันมาผ่านระยะเวลาอันยาวนาน จากรุ่นต่อรุ่น โดยมิได้มีหลักพิสูจน์ได้ทางประวัติศาสตร์หรือไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางวิชาการได้ แต่ตำนานก็ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่จะบอกเล่าเรื่องราวความเชื่อของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งอาจเชื่อโยงไปถึงประเพณี สถานที่ หรือแม้แต่พฤติกรรมต่างๆ ของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ ได้ .. ที่บ้านวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทหล่มสูง ก็ได้มีตำนานที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเล่าเรื่องเชื่อมไปถึงสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองหล่มอย่างมากมาย นั่นคือ “ตำนานขอนมาดและตอมาด” ตำนานเล่าว่า .. ในสมัยก่อน (บ้างก็ว่า เป็นสมัยกรุงศรีอยุธยา) พระมหากษัตริย์ได้ประกาศให้หัวเมืองต่าง ๆ หาขอนไม้ขนาดใหญ่อย่างดีเพื่อจะนำมาขุดเป็นเรือพระที่นั่ง (บ้างก็ว่า จะเอาไปทำเสาเอกของพระราชวัง) … เจ้าพ่ออู่คำ เจ้าเมืองขอนเดิด (นครเดิด) (บ้างก็ว่า เป็นเจ้าเมืองหล่ม) จึงต้องทำการหาขอนไม้ขนาดใหญ่เพื่อส่งไปเมืองหลวงดังกล่าว เมื่อเวลาผ่านไปจนเกือบจะครบกำหนด เจ้าพ่ออู่คำก็ยังหาขอนไม้ที่ดีไม่ได้จึงเกิดความวิตกร้อนใจคิดกังวลตลอดเวลา จนอยู่มาเช้าวันหนึ่ง เจ้าพ่ออู่คำออกมาล้างหน้า เมื่อชะโงกหน้าเพื่อเข้าไปตักน้ำในโอ่ง ก็มองไปที่ผิวน้ำในโอ่งก็เห็นเงาของนกโตโวคำ(นกกาเหว่า)คู่หนึ่งจับที่ยอดไม้มาด (ไม้ตะเคียน)สูงใหญ่ ครั้นเงยหน้าขึ้นมา กลับไม่พบนกและต้นไม้นั้นเลย แต่กลับได้ยินเสียงนกโตโวคำร้องอยู่ทางทิศเหนือของเมืองขอนเดิด จึงได้สั่งทหารให้ไปสืบหาขอนไม้ตามทิศทางนั้น ก็ได้พบไม้มาด 2 ต้น (บางก็เล่าว่ามีเพียง 1 ต้น) ขนาดสูงใหญ่ใบดกเขียวชอุ่มทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าแล้ง ยืนต้นตรงงดงามอยู่ที่เชิงเขาที่บ้านวังบาลจึงกลับไปรายงานเจ้าพ่ออู่คำ เจ้าพ่ออู่คำ จึงให้เสนาฝ่ายขวาคือเจ้าพ่อเหล็กซีและเสนาฝ่ายซ้ายคือเจ้าพ่อขุนจบ พร้อมด้วยเหล่าทหารซึ่งนำโดยขุนส่วง ขุนไกร แต่งทัพนำกองกำลังไป 3,000 คนล่วงหน้าไปตัดขอนไม้มาดและเจ้าพ่ออู่คำก็ได้ตามไปในภายหลังเมื่อไปถึงขอนมาด เจ้าพ่อเหล็กซีได้ให้ทหารทำการตัดขอนมาด แต่ทำอย่างไรไม่สามารถตัดได้เพราะเจ้าที่เจ้าป่าแรง เจ้าพ่ออู่คำจึงประกาศว่า ใครสามารถตัดขอนมาดได้ จะยกบุตรสาวคือเจ้าแม่แพงศรี ให้แต่งงานด้วย เจ้าพ่อเหล็กซีอาสาตัดไม้ด้วยตนเอง โดยการใช้เหล็กซีแทงไม้มาดจนทะลุแต่ไม้ไม่ขาดไม่ล้ม พยามยามแทงอยู่หลายวัน ขอนไม้ก็ไม่ขาด จนในที่สุดเหล็กซีแตกออกเป็น 3 ส่วนคือ ดวง ด้าม และ แข่ว (ดวงคือเหล็กแหลม ด้ามคือที่จับ แข่วคือห่วงเหล็กที่ใช้รัดเหล็กซีหรือตัวดาบ ให้แนบสนิทติดกับด้าม) เมื่อเจ้าพ่อเหล็กซี ไม่สามารถตัดไม้มาดให้ล้มลงได้ เจ้าพ่อขุนจบจึงอาสาตัดแทน เจ้าพ่อขุนจบเป็นผู้มีความสามารถด้านวาทศิลป์ จึงได้ทำการพูดเกลี้ยกล่อมเจ้าป่าเจ้าเขา จนสามารถตัดไม้มาดทั้ง 2 ต้นล้มลงได้ กล่าวว่าเวลาที่ไม้มาดล้มลงนั้นเสียงดังเหมือนฟ้าร้อง กิ่งของไม้มาดที่ล้มลงนั้นทิ่มลงไปในดิน ทำให้เกิดเป็นน้ำสร้าง(บ่อน้ำ) มีน้ำผุดขึ้นมาเลยทันที (บ่อน้ำที่เกิดจากกิ่งไม้มาดทิ่มลงไปในดินนั้น เล่ากันว่าอยู่ใน วัดศรีฐานปิยารามและข้างหอพ่อตอมาดที่บ้านวังบาล) เมื่อตัดเสร็จ เจ้าพ่ออู่คำก็ได้ทำการบวงสรวงแม่ย่านางวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ในขอนมาด และนิมนต์พระมาฉันจังหันรอบ ๆ ตอไม้มาดทั้ง 2 ที่ถูกตัดลง ซึ่งตอไม้มาดมีความใหญ่มากขนาดสามารถวาง “พาข้าว” (สำรับข้าว) ได้ถึง 9 พา (บ้างก็ว่า 100 พา) จากนั้นก็ได้ทำการขุดโกลนขอนมาดทั้ง 2 ให้เป็นรูปเรือ (บ้างก็ว่า เป็นเรือ 1 ต้นเป็นเสา 1 ต้น) โดยมีสะเก็ดไม้ที่ถากนั้นปลิวไปกองรวมกันจนสูงเป็นภูเขาขนาดย่อม (อยู่บริเวณวัดจอมศรี ดอยสะเก็ด ในปัจจุบัน) เมื่อโกลนขอนมาดทั้ง 2 เสร็จแล้วก็ให้เจ้าพ่อเหล็กซีใช้เหล็กแทงขอนมาดให้เป็นรูเพื่อใช้เชือกร้อย และจะใช้กำลังพลชักลากขอนมาดไปทางทิศใต้ เพื่อไปยังแม่น้ำเพื่อทำการขนส่งล่องน้ำต่อไป (บ้างก็ว่า ตอนตัดไม้มาดนั้น สามารถตัดได้ไม่มีปัญหา แต่ตอนแรกใช้ช้างชักลาก กลับชักลากออกไปไม่ได้ ต้องให้เจ้าพ่อขุนจบผู้มีวาทะดีพูดเกลี้ยกล่อมเจ้าป่าเจ้าเขาถึงความสำคัญในการที่จะต้องชักลากขอนมาดออกไป จนสามารถชักลากขอนมาดออกไปได้) จะเห็นได้ว่า เจ้าพ่อขุนจบเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เป็นผู้มีวาทะดี และสามารถใช้คำพูดกับเจ้าป่าเจ้าเขาจนทำให้งานสำเร็จ และได้เจ้าแม่แพงศรีลูกสาวเจ้าพ่ออู่คำมาเป็นภรรยา การชักลากขอนมาดทั้ง 2 ออกไปทำให้เกิดเป็นรอยครูดของขอนกับพื้นดินเป็นร่อง โดยร่องใหญ่ได้เกิดเป็นเหมืองกลาง และร่องเล็กเกิดเป็นเหมืองแกลบเพราะเอาแกลบมารองตอนชักลากขอนไม้ จนมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง จึงได้พักกำลังพลเพื่อหุงหาอาหาร โดยทำการหม่าข้าว (แช่ข้าวเหนียวเพื่อให้เมล็ดข้าวขยายตัวก่อนนำไปนึ่ง) ในหนองน้ำนั้น จึงจะพอให้กำลังพลทั้งหมดได้กินข้าวกัน (ปัจจุบันเรียกว่า หนองขาม) ในการหุงหาอาหารนั้น กำลังพลได้เก็บผักหวานมากินกัน แต่ผักหวานกลับเป็นพิษทำให้เกิดการเบื่อผักหวาน (บ้างก็ว่า ไปจับจระเข้มากินเพราะคิดว่าเป็นตะกวด แล้วเกิดเป็นพิษ) กำลังพลได้ล้มตายไปจำนวนมาก ทำให้การชักลากจึงล่าช้าลงไปอีก เมื่อชักลากไปถึงแม่น้ำป่าสัก แต่เนื่องจากเป็นหน้าแล้งจึงน้ำในแม่น้ำป่าสักลดระดับลงไปมาก ยังไม่สามารถนำขอนมาดทั้ง 2 ลงไปล่องน้ำไปได้ในทันที ต้องนำขอนมาดทั้ง 2 พาดค้างรออยู่ที่ขอบตลิ่งริมแม่น้ำก่อน ซึ่งต่อมาบริเวณนั้นก็ถูกเรียกว่า“สักงอย”(สัก คือทิ่มหรือปัก งอย คือพาดค้างขอบไว้) จนเมื่อสามารถนำขอนมาดทั้ง 2 ลงน้ำได้แล้วจึงนำมาผูกติดกันเป็นแพเพื่อทำการล่องน้ำไปพร้อมกันได้สะดวก แต่แล้วขอนมาดก็เกิดขาดหลุดออกจากกันอีก ในบริเวณที่ปัจจุบันนี้ถูกเรียกว่าสักหลง จึงต้องเสียเวลาจัดการผูกติดกันใหม่จนสามารถล่องน้ำลงใต้ไปเมืองหลวงต่อไปได้ แต่เนื่องจากเกิดอุปสรรคในการตัดและชักลากขอนมาดดังกล่าว ประกอบกับการขนส่งทางแม่น้ำป่าสักซึ่งมีความคดเคี้ยวทำให้การเดินทางใช้เวลานานมากจนกระทั่งล่วงเลยเวลาคัดเลือกขอนไม้ของทางเมืองหลวงไปแล้ว เมื่อขอนมาดทั้ง 2 ได้ล่องไปไม่ถึงเมืองหลวง ระหว่างทางก็ทราบข่าวว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงเลือกขอนไม้ที่มาจากลำน้ำน่านไปแล้ว … ขอนมาดพี่น้องทั้ง 2 ก็ถูกละทิ้งไว้ จึงเกิดความผิดหวังเสียใจ พากันร้องไห้และชวนกันลอยทวนน้ำแม่น้ำป่าสักเพื่อที่จะกลับไปยังบ้านวังบาลถิ่นกำเนิด … ขอนมาดผู้น้องร้องไห้ลอยมาถึงแถวสระบุรีจึงหมดแรงก่อนจึงได้จมลงอยู่ในแม่น้ำป่าสัก ซึ่งก็คือบริเวณที่เรียกว่า บ้านเสาไห้ (เสาร้องไห้) ในปัจจุบัน ส่วนขอนมาดผู้พี่ก็ยังคงร้องไห้ลอยทวนน้ำแม่น้ำป่าสักกลับวังบาลต่อไป จนกระทั่งมาถึงบริเวณหน้าวัดท่าน้ำ เมืองท่าโรง(วัดวิเชียรบำรุง อำเภอวิเชียรบุรีในปัจจุบัน) ก็หมดแรงและจมลงสู่ก้นแม่น้ำป่าสักอีกเช่นกัน ตำนานเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปนับร้อยปี แม่ย่านางทั้ง 2 ก็คลายความโศกเศร้าลง จึงได้ไปสร้างนิมิตให้กับผู้คนทั้งที่สระบุรีและวิเชียรบุรี เพื่อให้นำขอนไม้ทั้ง 2 ขึ้นมาจากน้ำ และชาวบ้านทั้ง 2 แห่งต่างก็ได้มีการดำเนินการเชิญขอนมาดทั้ง 2 ขึ้นมาจากแม่น้ำป่าสัก โดยที่สระบุรี อยู่ที่วัดสูง อำเภอเสาไห้ และที่วิเชียรบุรี อยู่ที่วัดวิเชียรบำรุง มาจนทุกวันนี้ (บ้างก็เล่าถึงขอนมาดจากวังบาลมาจมแม่น้ำป่าสักอยู่ที่วิเชียรบุรีเพียงต้นเดียว มิได้กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับขอนมาดต้นที่ 2 ที่อยู่เสาไห้แต่ประการใด) กลับไปที่หล่มเก่า ก็ยังคงเหลือร่องรอยตามตำนานคือ ได้มีการสร้างหอเจ้าพ่อตอมาดไว้ที่บ้านวังบาล (ปัจจุบันเขียนว่า ตอมาตย์) คร่อมตอของขอนมาดไว้ (บ้างก็ว่า อีกตอหนึ่ง ได้สร้างพระธาตุคร่อมไว้) และมีหอเจ้าพ่อเหล็กซีและเจ้าพ่อขุนส่วงอยู่บ้านวัดทุ่งธงไชย หอเจ้าพ่อขุนจบอยู่บ้านวังเวิน หอเจ้าพ่ออู่คำอยู่บ้านนาทราย และหอหลวงอยู่ที่หนองขาม ส่วนบริเวณที่นำขอนมาดไปโกลนเป็นรูปเรือนั้น ก็คือวัดจอมศรี ซึ่งสะเก็ดไม้ที่ถูกถากออกไปกองรวมกันอยู่ ได้มีการสร้างพระธาตุครอบไว้ เรียกว่าพระธาตุดอยสะเก็ด และที่หล่มสัก ก็ยังคงมีบ้านสักงอย สักหลง อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก หลังจากนั้น มีเรื่องเล่าว่า แม่ย่านางตอมาด มาเข้าฝันผู้คนบอกว่า ร้อน อยากอยู่ในน้ำ .. ชาวบ้านจึงได้พากันขุดตอไม้มาดออกแล้วนำไปแช่ไว้ในสระน้ำภายในวักศรีฐานปิยาราม บ้านวังบาล และต่อมาเมื่อไม่นานมานี้เอง มีการอัญเชิญตอไม้มาดกลับขึ้นมาไว้บนศาลใหม่อีกครั้งเพื่อให้ผู้คนกราบไหว้ขอพร .. แต่แล้วก็อีกเช่นเดิม มีย่านางตอมาดมาเข้าฝันผู้คนอีกว่าอยากกลับลงไปอยู่ในน้ำเหมือนเดิม .. ชาวบ้านจึงพากันนำตอมาดลงไปแช่น้ำไว้ในสระเช่นเดิม .. แต่คงขอนำกิ่งหนึ่งของรากตอมาดดังกล่าวคงไว้บูชาในศาล ซึ่งปรากฏอยู่ที่หอเจ้าพ่อตอมาดมาจนทุกวันนี้ ตำนานเรื่อง ขอนมาดและตอมาด ได้ถูกเล่าสืบต่อกันมาแล้วเป็นเวลายาวนานมาก จากรุ่นสู่รุ่น จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนไม่เหมือนกันในแต่ละเรื่องราวตามแต่ละคนที่ได้เล่าได้ยินกันมา แต่ก็คงเป็นความแตกต่างกันเฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ส่วนเนื้อหาที่เป็นแก่นของเนื้อเรื่องของตำนานก็ยังคงมีเค้าโครงที่ใกล้เคียงกันอยู่ … ตำนานเรื่อง ขอนมาดและตอมาดนี้ นอกจากจะได้เล่าเรื่องเชื่อมโยงไปกับสถานที่ต่าง ๆ ที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน และเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่อยู่ตามศาลในหมู่บ้านชุมชนต่าง ๆ ของคนไทหล่มแล้ว ยังสามารถบ่งบอกได้ถึงความเก่าแก่ของชุมชนไทหล่มที่ได้ลงหลักปักฐานเป็นชุมชนที่มั่นคงในพื้นที่มาช้านานแล้ว นอกจากนั้น ยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติของพื้นที่ในสมัยก่อนอีกด้วย จึงนับว่าเป็นตำนานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดไว้ ไม่ให้หายไปตามกาลเวลา …
ศาลเจ้าพ่อตอมาตย์








พระธาตุปู่เถร



พระธาตุปู่เถร
พระธาตุปู่เถร ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านวังบาล ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ไม่มีใครทราบว่าตั้งขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง แต่มีตำนานเล่าขานว่าในสมัยก่อนบริเวณนั้นเคยเป็นวัดมาก่อน และได้มีตาเถรมาอาศัยอยู่ ซึ่งตาเถรที่ชาวบ้านเรียกกันนั้น ประพฤติปฎิบัติตนคล้ายกับพระสงฆ์ ในสมัยนั้น ชาวบ้านพากันเคารพนับถือตาเถรมาก เมื่อตาเถรได้เสียชีวิตลง ชาวบ้านจึงได้สร้างพระธาตุนั้นขึ้นมา แล้วชาวบ้านก็พากันเรียกว่า “พระธาตุปู่เถร” จนถึงปัจจุบัน ลักษณะศิลปะที่ปรากฏ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีอิทธิพลของศิลปะเชียงแสนผสมกับล้านช้าง ด้านล่างสุดจากพื้นขึ้นมา 1.10 เมตรเป็นซุ้มทั้งสี่ทิศลวดลายยังเหลืออยู่บ้าง ต่อจากชั้นนี้สูงประมาณ 1.20 เมตร เป็นลายปูนปั้น เป็นลายมะหวดคล้ายๆ ลูกกรง แล้วทำลดหลั่นกันขึ้นไปอีกหลายๆชั้น จนถึงเจดีย์จริงๆ ซึ่งคล้ายกับทรงลังกาเป็นเหลี่ยมสอดคล้องกับฐานเบื้องล่าง แต่ในปัจจุบันนี้ ยอกของพระธาตุ ได้หักลงมาแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ายอดของพระธาตุนั้นเก็บไว้ที่ไหน และได้มีการขุดพบพระพุทธรูปในช่วงที่อาจารย์เคลื่อน สายทองมาตร เป็นอาจารย์ใหญ่ (ปี 2508 - 2521) พระพุทธรูปมีลักษณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ มือขวามีลักษณะคล้ายๆ กับทำการจีบมือ มือซ้ายหงายขึ้น วางไว้ที่หน้าขาด้านซ้าย นอกจากนี้ชาวบ้านเชื่อ “ปู่เถร” เป็นผู้คอยปกปักรักษาชาวบ้านบ้างก็ เชื่อว่าเมื่อเด็กร้องไห้ไม่หยุดแสดงว่าปู่เถรไปหา พ่อแม่ของเด็กต้องเอาตำหมาก พาหวาน บุหรี่ มาถวาย เด็กจึงจะหยุดร้องไห้ และถ้ามีเด็กเกิดใหม่ภายในหมู่บ้านจะต้องพาเด็กไปฝากเป็นลูกเป็นหลานปู่เถร สำหรับประเพณีที่ทำสืบทอดต่อกันมา คือประเพณีการสรงน้ำองค์พระธาตุปู่เถรในวัน สรงกรานต์ ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นศิริมงคลและจะไม่เกิดภัยพิบัติในหมู่บ้าน
วัดป่าภูทับเบิก
วัดป่าภูทับเบิก เป็นสถานปฏิบัติธรรมสายธรรมยุตินิกาย สร้างขึ้นเมื่อปี สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534 ด้วยเนื้อประมาณ 50 ไร่ บนยอดเขาสูง 1,786 เมตร จากระดับน้ำทะเล ห่างจากจุดชมวิวภูทับเบิกประมาณ 6 กิโลเมตร รายล้อมไปด้วยป่าเขาอุดมสมบูรณ์ และสายหมอกที่ปกคลุมในยามเช้า ทำให้วัดแห่งนี้มีอากาศเย็นสบายตลอดปี อีกทั้งยังมีบรรยากาศที่เงียบสงบ เหมาะกับการมาทำบุญ และปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตใจสงบร่มเย็น จุดเด่นของวัดป่าภูทับเบิกคือ พระมหาธาตุเจดีย์โพธิปักขิยธรรม ที่มีความโดดเด่นแม้จะมองจากที่ไกลๆ เป็นพุทธสถานที่เริ่มการก่อสร้างขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ.2549 โดย พระอาจารย์วัชระ วิจิตโต เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ องค์สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆประณายก ทรงเมตตาประทาน พร้อมผ้าพระกฐินแก่วัดป่าภูทับเบิกในปี พ.ศ. 2555 ก่อนจะมีการประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในผอบทองคำ สูง 99 เซนติเมตร และฉัตรทองคำสูง 161 เซนติเมตร ขึ้นประดิษฐานบนยอดสูงสุดของพระมหาธาตุเจดีย์ในวันที่ 1 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2558 นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ในพระมหาธาตุเจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธโคดมปางไสยาสน์ และ พระศรีอริยเมตไตรย์ ลงรักปิดทองประดับเพชรพลอยรัตนชาติ นอกจากนี้ยังมีพระประจำวันประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ทิศ องค์พระมหาธาตุเจดีรายล้อมไปด้วยผอบทองคำที่บรรจุพระอัฐิธาตุพระอัครสาวก 36 พระองค์ ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์จะมีบันไดพญานาคเงิน-พญานาคทอง 9 เศียร ประดับตกแต่งด้วยลวดลายสวยงาม หลังจากทำบุญ กราบไหว้พระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นที่เรียบร้อย ก็ถึงเวลาชมวิวสวยๆ รอบๆ วัดค่ะ เราจะได้ชมวิวของภูเขา ไร่นา และหมู่บ้านในระแวกใกล้เคียงได้แบบ 360 องศาเลย ยิ่งถ้ามาในช่วงเช้าของฤดูฝนตลอดไปจนถึงฤดูหนาว จะมีโอกาสได้ชมทะเลหมอกสวยๆ ที่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ เหมือนสวรรค์บนดิน การเดินทางไป วัดป่าภูทับเบิก ให้ขับรถตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2331 (สี่แยกน้ำชุน-สามแยกภูทับเบิก) จนกระทั่งถึงป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน ภูทับเบิก ให้ตรงเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อถึงจุดชมวิวภูทับเบิกแล้ว ให้ขับเลยไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดป่าภูทับเบิก วัดป่าภูทับเบิก เพราะเป็นวัดสายปฏิบัติธรรมด้วยสถานที่บรรยากาศที่สงบและห่างไกลจากความเจริญทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของนักปฏิบัติธรรม มีนักร้องนักแสดงมากมายและอีกหลากหลายอาชีพมาปฏิบัติธรรมที่นี่กันมาก นอกจากเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแล้ว วัดแห่งนี้ได้ชื่อเป็นวัดที่สูงที่สุด ในประเทศไทยด้วย และยังมีจุดจมวิวภูทับเบิกสวยๆให้ชม ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปกราบไหว้และท่อเที่ยวไปในตัว ถือว่าเป็นวัดป่าภูทับเบิกเป็นวัดที่สูงที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
วัดป่าภูทับเบิก













วัดโพนทองผาเมือง บ้านเหมืองแบ่ง
วัดโพนทองผาเมือง ที่ตั้ง : หมู่ที่ 11 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ พิกัด : 16.91489,101.17069 วัดโพนทองบ้านเหมืองแบ่งสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2480 ชื่อของวัดโพนทองมีที่มาจากจอมปลวกขึ้นมาสงเป็นโพนและไม้ตะเคียนทองใหญ่ขึ้นอยู่ในบริเวณวัด ส่วนหมู่บ้านเหมืองแบ่งมีชื่อมาจากได้รับมีราษฎรอพยพมาจากอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และหมู่บ้านวังบาลในสมัยก่อน โดยการนำของปู่ยกบัตรหลังจากนั้นชาวบ้านได้แบ่งน้ำเข้าทุ่งนาเพื่อมาทำการเกษตร ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นชื่อบ้านเหมืองแบ่งขึ้นมา วัดโพนทองได้สร้างเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2480 เป็นต้นมา ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเรียกชื่อวัดว่า “วัดโพนทองบ้านเหมืองแบ่ง” ตามชื่อหมู่บ้าน บางคน เรียกว่า “วัดโพนทองเหมืองแบ่ง” เสนาเสนาะ มีอุโบสถ ศาลากลางเปรียญ กุฎิสงฆ์จำนวน 2 หลัง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2519 เขตวิสงคามสิมมีความกว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตรได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2519 และ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 วัดโพนทอง บ้านเมืองแบ่งได้จัดงานฉลองสมโภชน์พระธาตุศรีมิ่งเมือง เพื่อบรรจุพระธาตุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ วัดโพนทองผาเมือง ตั้งอยู่ช่วงตรงกลางหมู่บ้านเหมืองแบ่ง หมู่ที่ 11 ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอีกหนึ่งวัดของตำบลวังบาล ที่มีความสวยงามและเป็นที่นับถือ ศรัทธา ของชาวบ้านเหมืองและชาววังบาล มีพระจำวัด 6-9 รูป ภายในวัดมีโบสถ์ที่สร้างด้วยความสวยงาม ละเอียดอ่อนและมีวัตถุมงคลของโบราณ เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านเหมืองแบ่งมาช้านาน เป็นวัดที่เงียบสงบ และโบสถ์ที่มีความสวยงามวิจิตร น่ามาปฏิบัติธรรม ภายในโบสถ์ประดิษฐานหลวงพ่อทันใจ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าขอพรหลวงพ่อทันใจแล้ว ได้ผลทันใจจริงๆ นอกจากโบสถ์ที่สวยงามแล้วยังมีรูปปั้นองค์เทพต่างๆ เช่น พระแม่ธรณี นางกวัก เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “ราหูอมจันทร์” แต่ทราบหรือไม่ว่า ทำไมราหูถึงต้องอมจันทร์ เรื่องนี้มีที่มาจากตำนานของอินเดีย เรื่องมีอยู่ว่า มีฤาษีตนหนึ่งนามว่า ทุรวาสเป็นปางหนึ่งในการอวตารของพระศิวะ วันหนึ่งพระอินทร์ได้ทรงช้างเอราวัณ ผ่านมาเมื่อฤาษีทุรวาสเห็นก็ได้นำพวงมาลัยถวายแด่องค์พระอินทร์ แต่เมื่อช้างเอราวัณได้กลิ่นของดอกไม้ก็มึนเมา และกระทืบพวงมาลัยจนเละ ส่วนพระอินทร์ก็มิได้กล่าวคำขอโทษแต่อย่างไดๆ เลย ทำให้ฤาษีทุรวาสโกรธมากและสาปให้เทวดาต้องพายแพ้ทุกครั้งที่สู้รบกับยักษ์
วัดโพนทองผาเมือง บ้านเหมืองแบ่ง








วัดศรีฐานปิยาราม บ้านวังบาล
วัดศรีฐานปิยาราม บันทึกไว้ว่า ประชาชนชาววังบาลได้อพยพมาจากล้านช้าง หลวงพระบาง น้ำลี่ แสนศรี (แสนหวี) โดยการนำของขุนวังบังบาลสองพี่น้องได้มา สร้างบ้านแบ่งเมืองที่วัดศรีฐาน วังบาล คือหมู่บ้านวังบาลในปัจจุบัน วัดศรีฐานตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านวังบาล หมู่ที่ 15 (เดิมอยู่หมู่ที่ 9 ) ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือยาว 1 เส้น 16 วา 2 ศอก ติดต่อกับถนนสาธารณะ ทิศใต้ยาวเส้น 15 วา 3 ศอก ติดต่อกับที่ดินของชาวบ้าน ทิศตะวันตกยาว 1 เส้น 13 วา ติดกับซอยเข้าหมู่บ้าน ตาม นส. 3 ก. เลขที่ 2167 มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ ได้สร้างเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ 2225 เป็นวัดที่เก่าแก่ สร้างมานาน โดยมีหลวงพ่อศรีฐานเป็นผู้นำจัดสร้างวัดจึงได้มีนามว่าวัดศรีฐาน แต่ชาวบ้าน นิยมเรียกว่าวัดวังบาล ตามชื่อหมู่บ้าน อุโบสถก็ได้จัดสร้างขึ้นใหม่แทนหลังเก่านับเป็นวัดที่ได้รับวิสุงคามสิมานับตั้งแต่ในราวปี พ.ศ. 2225 -ชุมชนวัดศรีฐานปิยามราม มีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นชุมชนคุณธรรม เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหล่มเก่า หรือวิถีไทหล่ม -ศูนย์วัฒธรรมเฉลิมราช วัดศรีฐานปิยามรามตำบลวังบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนผู้สูงวัย ที่ทุกสัปดาห์ผู้สูงวัยในระแวกนั้นจะมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งปกติชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นชาวไร่ ชาวนาและทอผ้าเป็นอาชีพเสริม โดยสืบสานการทอผ้าจากบรรพบุรุษ และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ขั้นตอนการทอผ้า จะเริ่มจากการอิ้วฝ้าย เอาเม็ดออก นำมาดีดฝ้าย ล้อฝ้าย ให้เป็นเปียฝ้ายเก็บไว้เป็นระเบียบ และนำมาใส่กรงเพื่อกวักฝ้าย ทำเป็นเส้นยืน หรือทำเป็นหลอดด้าย เพื่อให้เป็นเส้นพุ่งในการทอ โดยผ้า 1 ผืนจะใช้เวลาในการทอราว 3 วัน ราคาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ลวดลาย ในโบสถ์วัดศีฐานปิยาราม มีพระพุทธรูปสีดำองค์หนึ่ง ชาวบ้านจะนับถือมากและไปเสี่ยงทายกัน เล่ากันถ้าเราไปขอ แล้วเสี่ยงทายว่าจะเราจะได้ตามที่ขอหรือไม่นั้น หลวงพ่อเล่าว่า ให้เราอธิฐานสามครั้ง ครั้งแรกให้ขอ...แล้วอธิฐาน ถ้าได้ตามที่ขอ ขอให้ยกองค์พระขึ้น ครั้งที่สองให้ขอ..(เรื่องเดิม)แล้วอธิฐาน ถ้าได้ตามที่ขอ ขอให้ยกองค์พระไม่ขึ้น และครั้งที่สามให้ขอ... แล้วอธิฐาน ขอให้ยกองค์พระขึ้นอีกครั้ง ถ้าทำได้ตามที่ขอ คำอธิฐานของเราจะเป็นจริง แต่ถ้าเราจะไม่ได้ตามที่ขอ คำอธิฐานของเราจะไม่เป็นจริง ซึ่งที่ผ่านหลวงพ่อท่านบอกว่าได้ตามที่ขอจำนวนมาก ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือกันมาก **คำว่าพระเสี่ยง(เซี่ยง ในภาษาหล่ม หมายถึง ซ่อน แอบ) ตอนแรกใจว่าเสี่ยงทาย แต่ไม่ใช่ คนเฒ่าคนแก่แถวนั้นเล่าว่า สมัยก่อนพระองค์นี้ถูกขโมยไปแล้วนำไปซ่อนไว้ จนชาวบ้านหาเจอแล้วได้นำมากลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีฐานแห่งนี้
วัดศรีฐานปิยาราม บ้านวังบาล















วัดศรีมงคล บ้านนาทราย
วัดศรีมงคล บ้านนาทรายตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านนาทราย ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ เมื่อสร้างวัดแล้ว หลวงโง้ง เจ้าอาวาสองค์แรกและชาวบ้านได้ตั้งชื่อว่า "วัดทรายงาม" โดยตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ดินซึ่งเป็นทรายสีแดง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "วัดศรีมงคล" วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ก่อตั้งมาในช่วงสมัยกรุงศรีอยุทธยาตอนปลายถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยคือ ภาพจิตกรรมฝาผนังที่อยู่รอบภายในโบสถ์ เขียนภาพโดยนายแดง หรือนายขี้ฑูตใช้เวลาเขียนถึงสามปีเศษ ได้ค่าจ้างในราคา 1 ชั่ง 4 ตำลึง ลักษณะของภาพเขียนเล่าถึงเรื่องพระเจ้าสิบชาติ มีศิลปะต่างชาติเข้ามาผสมผสาน ภาพเขียนจะสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น สีสันสวยงาม ใช้สีฝุ่นผสมกาวไม้ สีเปลือกไม้ และสีดินระบายภาพ ตัดเส้นแบบแบนเขียนภาพบนฝาผนังปุน (ปางสะดุ้งมาร) ปู่ใจ นันทะเป็นผู้แกะสลัก ปัจจุบันวัดศรีมงคล บ้านนาทราย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปกรให้เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ ที่ควรอนุรักษ์ วัดศรีมงคล หรือ วัดบ้านนาทราย มีเรื่องเล่าติดต่อกันมาเกี่ยวกับความศรัทธา... อาถรรพ์ ผู้หญิงห้ามเข้า นอกจากนี้แล้วที่นี้ยังมีประเพณี เลี้ยงปี... ไล่ผีหลวง เป็นหนึ่งในตำนานคู่เรื่องราวของ โบสถ์มหาอุตม์ ภาพกิจกรรมอันล้ำค่า ควรค่ายิ่งแห่งการแสวงหาดูให้เป็นบุญตา ความเชื่อที่สืบต่อกันมา คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ทุกปีที่ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ จะต้องมีพิธีบุญเลี้ยงปี ไล่ผีหลวง หรือชาวบ้านเรียกกันว่า ซำฮะบ้าน ลูกๆหลานๆไม่ว่าจะไปอยู่กันในแห่งหนตำบลไหนจะต้องกลับบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีทายาทจะต้องออกจากพื้นที่ในการทำพิธี ชาวบ้านวังบาลจะมารวมตัวกันที่วัดศรีมงคล... สิ่งสำคัญที่ปฏิบัติกันมา มีความเชื่อกันว่า ผู้หญิง เป็นสิ่งต้องห้ามก้าวย่างเข้าไปในโบสถ์แห่งนี้โดยเด็ดขาด ด้วยเพราะอาถรรพ์ที่เล่าสืบต่อๆ กันมา ใครฝ่าฝืนจะต้องมีอันเป็นไป คำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น โบสถ์แห่งนี้เป็นมรดกล้ำค่าของชาวหล่มเก่า และยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ล้ำค่าของชาติ ที่นี้มีภาพเขียนฝาผนังที่งดงามมาก แถมยังเป็นโบสถ์มหาอุตม์ ที่มีความเชื่อในเรื่องการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์สืบต่อกันมา ประเพณีเลี้ยงปี ไล่ผีหลวง ณ บ้านนาทรายตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพิธีสำคัญและใหญ่ที่สุด กำหนดจัดกันในทุกเดือนหกของปี ร่างทรงและผู้ที่นับถือเจ้าพ่อจะไปอยู่ที่ใดต้องกลับมาร่วมพิธีนี้ทุกครั้ง ถ้ามาไม่ได้ต้องให้คนในครอบครัวเสียไก่ เสียเหล้า เพื่อเป็นสิ่งแทนตัวบุคคลมาร่วมงาน ผู้ที่มาบนบานศาลกล่าวไว้จะกลับมาแก้บนในวันนั้นด้วย สำหรับอาหารคาวที่ใช้เซ่นไหว้... หมู ไก่ เป็ด จะหมุนเวียนทุกปี โดยร่างทรงและลูกผึ้ง ลูกเทียน จะร่วมรับประทานอาหารหลังจากเลี้ยงเจ้าพ่อแล้ว จากนั้นจึงทำพิธีสู่ขวัญ มีหมอแคนทำพิธี เจ้าพ่อองค์ใหญ่ เจ้าพ่อองค์รอง และเจ้าพ่อองค์เล็ก จะผลัดกันผูกข้อมือ ลำดับสุดท้าย เจ้าพ่องค์ใหญ่ผูกข้อมือให้ลูกผึ้งลูกเทียนจนเป็นที่พอใจ และสุดท้ายเข้าสู่พิธีไล่ผีหลวง เป็นพิธีปัดเป่าและส่งบรรดาพวกผีปีศาจสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านนาทรายนั้นเอง เหตุผลถึงการห้ามผู้หญิงเข้าเข้าพระอุโบสถ วึ่งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า การที่ผู้หญิงเข้ามาในโบสถ์ทำให้เกิดไฟไหม้ โบสถ์ถึงสองครั้งสองคราว หน้าต่าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และเป็นโบสถ์ที่มีความเชื่อเรื่องธรณีประตู ห้ามผู้หญิงข้ามผ่านเข้ามาภายในเด็ดขาด อีกมุมหนึ่งน่าจะเป็นกุสโลบายความเชื่อเรื่องประตูธรณี ซึ่งเป็นจุดที่มีนายทวารบาล หรือเทพเทวดาที่คอยดูแลปกปักรักษา ดังนั้นต้องให้ความเคารพ เช่นเดียวกันเหตุผลทางธรรม การข้ามผ่านธรณีประตูเปรียบได้กับการข้ามพ้นโลกและอำนาจกิเลส จึงเป็นเครื่องสอนใจให้ควบคุมตนเองให้อยู่เหนือกิเลส
วัดศรีมงคล บ้านนาทราย













วัดปฐมเทพเนรมิต (วัดถ้ำภูปูน)
วัดปฐมเทพเนรมิต(บ้านภูปูน) เดิมชิ่อวัดถ้ำภูปูน เป็นวัดร้างเก่าแก่อายุนับร้อยปี ซึ่งสันนิฐานว่าเกิดจากภัยธรรมชาติทำลาย โดยมีซากเมือง และอุโบสถเก่า และบริเวณติดกับวัดจะมีถ้ำอยู่ ชื่อถ้ำภูปูน เป็นถ้ำที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิดูแลรักษา ตำนานเล่าว่าในถ้ำมีทรัพย์สมบัติและของวิเศษของพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยมีเทพรักษาอยู่ ดังนั้นภายในบริเวณวัดจุงมีสิ่งศักดิ์สิทธิคอยดูแล วัดถ้ำภูปูนมีโบสถ์ร้าง ในโบสถ์มีพระพุทธสิหิงส์ที่เสด็จมาเอง (ศักดิ์สิทธิมาก ถ้าบนไว้จะต้องมาแก้)ในวัดจะมีต้นไม้น้อยใหญ่ รายลอบ และมีลำธารไหลผ่าน ยังคงความสมบูรณืของธรรมชาติ ดูสงบ ร่มเย็น น่าเลื่อมใสและเข้ามาปฎิบัติธรรมอย่างมาก วัดปฐมเทพเนรมิต (วัดถ้ำภูปูน) มีพระอธการสมาน สุมโนเป็นเจ้าอาวาส ก่อตั้งเมื่อประมาณ 10 ปี พระรูปแรกจำวัดได้ 1 ปี พระรูปต่อมาอยู่ได้ 3 เดือน และต่อมาพระอธิการสมาน สุมโน มาจำพรรษาอยู่จนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่พระจำพรรษษนานๆ ไม่ได้เพราะว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยดูแลรักษา พระที่มีศิลไม่บริสุทธิ์จะอญุ่ไม่ได้ ประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา คือประเพณีสรงน้ำถ้ำ (มีถ้ำอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ 2 องค์) ชาวบ้านเชื่อว่าถ้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านจะต้องเคารพนับถือบูชา ใครจะลบหลู่ไม่ได้ พอถึงขวบปี (รอบปี) ชาวบ้าจะจัดงานบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ (เจ้าถ้ำ) โดยการนำของคนทรงเจ้า จะนำขบวนแห่บั้งไฟมาสรงน้ำและจุดบั้งไฟถวาย เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว
วัดปฐมเทพเนรมิต (วัดถ้ำภูปูน)













วัดโพธิ์ทอง บ้านน้ำครั่ง
วัดโพธิ์ทอง ตั้งอยู่บ้านน้ำครั่ง หมู่ที่ 5 ตำบลวังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นวัดที่มีโบสถ์เก่าโบราณ ตั้งอยู่ และมีโบสถ์หลังใหม่สร้างขึ้นมาคู่กันไว้ เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตร และศึกษาข้อมูล ภายในวัดบรรยากาศร่มรื่น ชวนเข้ามาปฎิธรรม นอกจากนี้ภายในวัดยังมี พิพิทภัณฑ์พื้นบ้านวัดโพธิ์ทองบ้านน้ำครั่ง จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ แสดงออกให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน แสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ในการดำรงชีวิต อุปกรณ์ที่ใชในการหาอาหาร ประกอบการหุงหาอาหาร อุปกร์จับปลา การขนส่ง อุปกรณ์ทางการเกษตร เป็นต้น มีศุนย์สุขภาพ /โรงเรียนสร้างสุข/ โครงการวัฒนธรรมไทย สายใยในชุมชน บ้านน้ำครั่ง ยังมี "ประเพณีบุญบั้งไฟ ไหว้เจ้าพ่อสุริวงศ์" บ้านน้ำครั่ง ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ประเพณีดังกล่าวจะจัดขึ้นในช่วงขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ประเพณีบุญบั้งไฟ ไหว้เจ้าพ่อสุริวงศ์" เพื่อเป็นการขอบคุณที่ท่านคอยปกปักรักษา คุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยชาวบ้านจะตั้งขบวนบริเวณศาลเจ้าพ่อสุริวงศ์ แห่มายังวัดโพธิ์ทอง โดยมีการแห่รอบศาสนสถานภายในวัด 3 รอบ จากนั้นร่างทรงเจ้าพ่อ เจ้าแม่องค์ต่างๆ จะไปรวมตัวกันหน้าศาลหลวงพ่อพรหมจักร ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าโบสถ์ของวัดโพธิ์ทอง เพื่อถวายผ้าไตร บาตร ตาลปัตร ให้กับหลวงพ่อพรหมจักร หลังจากเสร็จพิธี ชาวบ้านจะตั้งขบวนแห่ไปยังสถานที่จุดบั้งไฟ เพื่อร่วมจุดบั้งไฟตามประเพณี และจะมีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารผู้ที่เข้ามาร่วมงานด้วย
วัดโพธิ์ทอง บ้านน้ำครั่ง




วัดจอมศรี (ดอยสะเก็ด)
วัดจอมศรี ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 บ้านวังบาล ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ชาววังบาลเรียกกันอีกชื่อหนึ่ว่า วัดดอย /วัดดอยสะเก็ด เป็นวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกวัดหนึ่ง จุดเด่นมีพระธาตุสีขาว ทรงระฆังคว่ำ องค์ใหญ่โดดเด่นสง่างาม ได้บูรณะใหม่โดยการทาสีขาวทั้งองค์พระธาตุ เมื่อ ธันวามคม พ.ศ. 2562 มีหอระฆังเก่าแก่ทำด้วยไม้เสาเดี่ยว ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลังได้ศึกษา ได้ชม ซึ่งปัจจุบันหาดูได้อยากแล้ว (เกร็ดความรู้เรื่องไทยศึกษา) หอระฆัง หอกลอง หอระฆัง หอกลอง เป็นสิ่งก่อสร้างที่ต้องมีประจำทุกพระอารามมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อใช้แขวนระฆัง กังสดาล หรือกลอง สำหรับเคาะหรือตีเป็นสัญญาณบอกเวลาแกพระสงฆ์และสามเณรได้ทราบเวลาเพื่อจะได้ปฏิบัติสมณะกิจประจำวันโดยพร้อมเพรียงกัน และเป็นการบอกเวลาหรือสัญญาณภายในชุมชนได้อีกด้วย การสร้างหอระฆัง หอกลอง บางวัดจะใช้หอเดียวกันเป็นทั้งหอระฆังและหอกลอง ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “หออาณัติ” บางแห่งก็สร้างแยกกัน คือ หอกลอง และ หอระฆัง บางวัดก็แขวนกลองไว้ตามศาลาการเปรียญหรือหอฉัน คงมีแต่หอระฆังอย่างเดียว ในสมัยโบราณเช่นในสมัยอยุธยา ถ้าเป็นวัดตามชนบทหรือวัดนอกกำแพงเมือง ส่วนมานิยมสร้างด้วยเครื่องไม้ แต่ถ้าเป็นวัดสำคัญหรืออยู่ในกำแพงเมือง นิยมสร้างด้วยเครื่องก่อ คือก่ออิฐถือปูน เช่น หอระฆังวัดพระศรีสรรเพชญ ภายในพระราชวัง วัดวรโพธิ์ หรือ วัดโลกยสุธาราม เป็นต้น เชื่อว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ก็คงมีคติเช่นเดียวกัน หอระฆัง หอกลอง ประเภทสร้างด้วยไม้ มีโครงสร้างยกพื้นลอยท่ามกลางเสาไม้สี่ต้น มีลูกกรงหรือพนักแบบต่าง ๆ กั้นทั้งสี่ด้าน เครื่องบนหลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ใต้ฝ้าเพดานเป็นที่แขวนระฆังหรือกลอง มีบันไดเล็ก ๆ เพื่อขึ้นไปเคาะระฆังหรือตีกลองได้ ส่วนหอระฆัง หอกลอง ที่สร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีรูปร่างต่าง ๆ กัน มีทั้งที่ก่อเป็นสองชั้น หรือหอสามชั้น มีทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยม แปดเหลี่ยม และทรงกระบอกตามอิทธิพลศิลปะตะวันตก และอิทธิพลศิลปะจีน หรือบางวัดเป็นแบบผสมผสานกัน หรือตามความคิดของศิลปินเองก็มี เช่น หลังคาจตุรมุขยอดทรงเจดีย์ ทรงบุษบกทรงมงกุฎ ทรงยอดเกี้ยว ทรงไทยแบบลดชั้น ตัวอย่างเช่น หอระฆังวัดพระเชตุพนฯ มีอยู่สองหอ ก่ออิฐถือปูนแบบจตุรมุขยอดทรงเจดีย์ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยหลากสี สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 บูรณะสมัยรัชกาลที่ 3 หอระฆัง วัดระฆังโฆสิตาราม สร้างแบบ หลังคาจตุรมุข หลังคาลดชั้นทั้งสี่มุม แผนผังรูปกากบาท แขวนระฆังห้าลูก หอระฆัง สร้างตามแบบอิทธิพลศิลปะจีน ประจำวัดมหรรณพาราม และวัดราชโอสาราม หอระฆัง สร้างตามแบบอิทธิพลศิลปะตะวันตก ประจำวัดชิโนรสาราม และวัดสุวรรณาราม หอระฆัง วัดมกุฎกษัตริยาราม ตัวหอเป็นทรงกระบอก เจาะหน้าต่างเป็นช่องวงกลม หลังคาคล้ายแบบจีน สมัยรัชกาลที่ 4 หอระฆัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวหอและหลังคาทำแบบทรงบุษบก ตั้งอยู่บนฐานสูงย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยหลากสี แขวนระฆังลูกที่ขุดได้จากวัดระฆัง ซึ่งกล่าวว่ามีเสียงกังวานไพเราะมาก สมัยรัชกาลที่ 5 หอระฆัง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ก่อด้วยอิฐถือปูนเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนเป็นซุ้มโปร่ง ย่อไม้สิบสอง ยอดทรงพระเกี้ยว หรือ ทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยหลากสี สมัยรัชกาลที่ 5 หอระฆัง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ก่อสร้างด้วยเครื่องไม้ผสมเครื่องก่อ ฐานก่ออิฐถือปูนประดับด้วยหินอ่อน หลังคาทรงไทยลดชั้นหน้าหลังประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ พระราชทานนามว่า “หอระฆังบวรวงศ์” สมัยรัชกาลที่ 5 (จาก พุทธศิลปรัตนโกสินทร์ ของ รองศาสตราจารย์สงวน รอดบุญ. 2526.) ส่วนทางทิศตะวันออกของวัดมีบันไดทอดยาวถึงลานพระธาตุ เป็นอุบายของคนโบราณที่มีความเชื่อและศัทธาต่อการสร้างบุญกุศลเพราะเปรียบเดินขึ้นบนสวรรค์ มีเรื่องเล่าว่าดอยสะเก็ดคือดินที่เกิดจากการตัดไม้มาตย์ ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่บริเวณศาลเจ้าพ่อตอมาตย์ ในปัจจุบันสะเก็ดไม้ลอยมาทับทมกันสูงเป็นเนินเขา จึงเรียกว่าดอยสะเก็ด
วัดจอมศรี (ดอยสะเก็ด)










ผีตาโม่
ผีตาโม่ เป็นภูมิปัญญาของไทหล่มที่อยู่ตามชนบทสมัยก่อน ซึ่งจะนำมาใช้ขู่หรือหลอกเด็ก ๆ ที่ดื้อ ซน หรือร้องไห้ ผู้ใหญ่มักจะข่มขู่ว่า "เดี๋ยวผีตาโม่จะมากินตับ กินไส้" พร้อมทั้งแสดงกริยาท่าทางให้น่ากลัว ตื่นเต้น เด็กจะหยุดทันที ทั้งที่ไม่รู้ว่าผีตาโม่มีรูปร่างลักษณะอย่างไร แต่วิธีการนี้ก็ใช้ได้ผลมาตลอด จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงหลอกเด็ก พอจะจินตนาการตามและนำมาสร้างเป็นหน้ากากและหุ่นจำลองได้ว่า ผีตาโม่น่าจะมีลักษณะที่น่ากลัว ตาโตแดงกล่ำ ปากกว้างเป็นกระด้ง ฟันแหลมขาว ลิ้นยาวห้อยลงมาคล้ายผีเปรต จมูกกลมใหญ่เป็นกระบวยตักน้ำ หูยาวคล้ายเขาควายมีตุ้มหูห้อย 2 ข้าง ดูคล้ายกระชอนปลาร้า ใส่ชุดดำโดยมีผ้าริ้วเป็นเส้น ๆ ประดับทั่วร่างกาย มือเท้าใหญ่ บางทีก็ถืออาวุธ บางทีก็มีพุงโตใหญ่อุ้ยอ้าย แล้วแต่จินตนาการของผู้จัดทำแต่ละคน ผีตาโม่ชอบกินตับไตไส้พุงของมนุษย์เป็นอาหาร โดยเฉพาะเด็กๆ ขี้อ้อนเอาแต่ใจ ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมหลับยอมนอน แต่ผีตาโม่ก็ยังมีแนวทางที่จะออกมาอาละวาดอยู่บ้าง คือ ถ้าไม่มีใครเรียกร้องก็จะไม่มา .. ผีตาโม่นี้ คนทางเมืองเพชรบูรณ์ จะออกเสียงว่า ผีตาโหม่ ตามสำเนียงการพูด เพื่อลดความน่ากลัวของการนำผีมาเป็นการละเล่น ได้มีการใช้ผ้าริ้วเป็นเส้น ๆ หลากสี นำมาเป็นเครื่องแต่งกาย ซึ่งจะมีลักษณะคล้าย ”ทุงพันชิ้น” ของไทหล่มที่นิยมทำขึ้นถวายเป็นพุทธบูชาที่มีอานิสงส์สูงมากเพราะจัดทำได้ยาก จึงอาจเชื่อมโยงเรื่องการถวายตัวเป็นพุทธบูชาของผีตาโม่ด้วยก็ได้ นอกจากผีตาโม่ ก็ยังมีผีอีกหลายชนิดที่มีไว้หลอกเด็ก เช่น ผีอองออย (ผีกองกอย) ผีเผด (ผีเปตร) ผีโพง แต่ไม่ได้มีการนำจินตนาการออกมาคิดเป็นเป็นหุ่นเป็นตัว ๆ อย่างผีตาโม่ มีข้อสังเกตว่า ไทหล่มซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางนี้ แม้จะนับถือศาสนาพุทธแต่ก็มีความเชื่อเรื่องผีควบคู่กันไป และได้มีการสร้างหุ่นหรือหน้ากากจำลองผีขึ้นมา คล้าย ๆ กัน คือ หลวงพระบางมีปู่เยอ ย่าเยอ ปากลายและไซยะบูลี มีผีโขนและหมอยา ที่ด่านซ้ายมีผีตาโขน และที่หล่มเก่า ก็มีผีตาโม่ ผีตาโม่เกิดเป็นตัวตนมีเป็นหุ่น ชุดแต่งกายและการแสดงขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยท่านอาจารย์ประทุม ชัยโฉม แห่งหล่มเก่า
ผีตาโม่